อย่างที่รู้กันว่าการมาของโฟม Lightstrike เป็นการผลักไสให้โฟม Ultraboost ถอยร่นกลายเป็นโฟมสำหรับรองเท้าเทรนนิ่งและใส่เดินใส่เที่ยวเสียมากกว่า จนผมที่เป็นแฟน Ultraboost ตั้งแต่รุ่น 19-20 ยอมตัดใจวางทิ้งไว้ไม่นำมาใส่วิ่งอีกเลย แต่ล่าสุด Ultraboost เหมือนจะยังไม่ล้มเลิกความพยายาม กับการเปิดตัว Ultraboost Light ความหวังใหม่ ที่อาจจะวิ่งได้ แต่ช้าหน่อย
หน้าผ้า
หน้าผ้าของ Ultraboost Light ยังคงใช้ Primeknit+ ที่มีความกระชับทีเดียว แต่เน้นย้ำไปที่การล็อกข้อเท้ามากขึ้น สังเกตได้จากส่วนข้อเท้าที่มีการบุผ้าหนาขึ้น เพื่อความมั่นคง พื้นที่ภายในรองเท้าน้อยลงหน่อย ผมใส่ตรงไซซ์กับรุ่น Ultraboost 22 แต่ปรากฏปลายเท้าชนกับนิ้วเท้าเล็กน้อย จนวิ่งไปสักพักถึงเริ่มคลาย ถ้าอยากใส่สบายขึ้นแนะนำให้บวกสักครึ่งไซซ์จะดีกว่า
โฟม
adidas เปลี่ยนโฟมใหม่ในชื่อ Light Boost ยังคงความแน่นเหมือนเดิม แต่ไม่ได้แน่นจนรู้สึกแข็ง ทางอาดิดาสเคลมว่ามีน้ำหนักเบากว่า Boost ปกติ 30% ทำให้ตัวรองเท้าน้ำหนักเบาขึ้นกว่ารุ่นก่อนค่อนข้างมากเลยทีเดียว อย่าง Ultraboost 22 หนัก 340 กรัม แต่ Ultraboost Light หนักเพียงแค่ 298 กรัม (ไซซ์ 9US) ซึ่งถือว่าเบาสมกับชื่อ Light จริงๆ นะเนี่ย
ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ โครงพลาสติกบริเวณส้นเท้า ที่ทั้งช่วยล็อกข้อเท้าให้กระชับและมั่นคง ยังช่วยยกส้นตามได้ดีขึ้น ทำให้การวิ่งส้นตามปลายเท้า จนไม่ได้ทำให้รองเท้าหนักจนเกินไป และเป็นส่วนที่เราชอบที่สุดในรองเท้าคู่นี้เลย
พื้น Outsole
แม้จะปรับโฟม Light Boost ใหม่ แต่เทคโนโลยีอื่นๆ adidas ก็ยังคงไว้เช่นเดิม เช่น adidas LEP (Linear Energy Push) ซึ่งเป็นแกนพลาสติกสีส้ม ที่ช่วยคงรูปของโฟม ทำให้เท้าเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและช่วยส่งแรงกลับได้ดี พูดง่ายๆ ว่ารองเท้ากลิ้งและวิ่งได้เพลินๆ นอกจากนี้ยังมีแผ่นยาง Continetal สีดำและสีขาวปิดทับไว้อีกชั้น ซึ่งเขาพยายามลดน้ำหนักลงโดยการ ปิดแค่บางส่วนของพื้น Outsole นั่นเอง
และเรื่องสุดท้ายคือสิ่งที่ adidas ไม่เคยละทิ้งอย่างการใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต แน่นอนว่าตัวเส้นใย Primeknit+ ได้มาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกจากทะเล รวมถึงวัสดุอื่นๆ ก็พยายามใช้งานให้เกิดวัสดุสิ้นเปลืองน้อยที่สุด
สรุปใส่วิ่งได้ไหม?
ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดคือ Ultraboost Light ใส่วิ่งได้ไหม? ต้องบอกว่าจากการที่ไม่คาดหวังเลยไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้คิดว่าจะเอา Ultraboost Light มาวิ่งอะไรอยู่แล้ว แต่กลายเป็นเมื่อวิ่งช้าๆ แบบไม่คิดอะไร รองเท้ากลับทำงานได้ดั่งใจเฉย เป็นการวิ่งเพซ 6.30 – 7 ที่เพลินมากๆ แปปๆ ครบ 10 กิโลแล้ว และยังต่อได้อีกโดยไม่เจ็บตัวอะไร
ด้วยความที่เขาปรับส้นมาให้ล็อกข้อเท้าดีมาก แล้วองศาของรองเท้าที่มีความโค้งมากขึ้น เวลาเราลงน้ำหนักช่วงกลางเท้า กลายเป็นว่าส้นยกตามทันที กลิ้งไปได้เรื่อยๆ แต่อย่าหันไปลงปลายเท้าเชียวนะครับ คุณจะไม่ได้ฟิลลิ่งนี้เลย ถือว่าเป็นรองเท้าที่พยายามกลับมาใส่วิ่งได้ น่าจะเหมาะกับใครที่ออกกำลังกายในยิมแล้วอาจจะวิ่งลู่บ้าง คู่นี้ตอบโจทย์จริงจัง หรือจะใส่เดินก็ยังสบายเท้าสมชื่อ Ultraboost แต่ถ้าใครคิดจะซื้อมาวิ่ง โปรดหนีไปที่ตระกูล adizero น่าจะตอบโจทย์กว่านะครับ
adidas Ultraboost Light ราคา 7,000 บาท
ซื้อได้ที่นี่