เปรียบเทียบรองเท้าวิ่งซีรีส์ adidas Ultraboost

ADIDAS Ultraboost

ซีรีส์ adidas Ultraboost เป็นรองเท้าคู่บุญกับเพจ Neighborfoot เรามากๆ เพราะเราเริ่มวิ่งจริงจังพร้อมๆ กับการยกระดับ Ultraboost 19 มา Ultraboost 20 และ Ultraboost PB จนตอนนี้มาถึง Ultrabost 21 ซึ่งเรายังคงหยิบมาสลับกันใส่อยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันรองเท้าวิ่งตระกูล Ultraboost ถูกแยกออกมาจากรองเท้าวิ่งสายเพอร์ฟอร์มานซ์ โดยแบ่งตามประเภทการใช้งานตามโฟมคือ BOOST ไว้สำหรับซ้อมและซัพพอร์ต ในขณะที่โฟม LIGHTSTRIKE ไว้ให้ซ้อมแข่งและทำความเร็ว ไหนๆ จะแบ่งแยกชัดเจนขนาดนี้ เราจึงขอนำ Ultraboost โฉมใหม่ทั้งหมด 4 คู่ที่กล่าวมาเปรียบเทียบให้ดูว่า แต่ละคู่แตกต่างกันอย่างไร มีคาแรกเตอร์แบบไหน และคู่ไหนที่เราชอบที่สุด

ตารางสรุปข้อมูลและเปรียบเทียบ adidas Ultraboost แต่ละรุ่น

แนะนำตัวละครรองเท้าทั้ง 4 คู่ประกอบด้วย Ultraboost 19, Ultraboost 20, Ultraboost PB และล่าสุด Ultraboost 21 ซึ่งทั้ง 4 คู่เป็นรองเท้าวิ่งที่ยกระดับ Ultraboost หน้าตาเดิมๆ เสียใหม่ สำหรับใครที่มีคำถามว่า Ultraboost วิ่งได้ด้วยเหรอ 4 คู่นี้แหละครับที่ใส่วิ่งได้เลย จากที่เคยมีปัญหาเรื่องความหนัก ความหน่วงเท้า หน้าผ้ารัดเกินไป ทุกอย่างถูกออกแบบใหม่เพื่อการใส่สบายขึ้น

หน้าผ้า

เริ่มต้นที่หน้าผ้าของ Ultraboost 19 ใช้วัสดุที่เรียกว่า Primeknit 360 ซึ่งมีลักษระเหมือนถุงเท้าถักขึ้น 360 องศา ให้สามารถสอดเท้าเข้าไปได้เลย ข้อดีคือความกระชับ ใส่ได้ทั้งคนเท้าเรียวและบาน เพราะผ้าปรับตัวตามรูปทรงเท้าอยู่แล้ว แต่แน่ละจะรู้สึกค่อยข้างกระชับนึดนึง / Ultraboost 20 เปลี่ยนจาก Primeknit 360 มาเป็น Primeknit+ ที่มีการถอให้ใส่สบายมากขึ้น มีการบุผ้าบวมรองรับส้นเท้าและเสริมผ้าถักให้หนาขึ้นบริเวณรอบนิ้วเท้า อันนี้ใส่สบายขึ้นจริง แต่รู้สึกเหมือนพื้นที่หน้าเท้ากว้างขึ้นหน่อย / Ultraboost PB ใช้วัสดุ Celermesh เป็นวัสดุที่ใช้กับรองเท้าวิ่งตัวท็อปๆ อย่าง adizero adios Pro มีข้อดีคือเบา ระบายอากาศได้ดี แถมยังมีแผ่นพลาสติกกันข้างเท้าด้านนอกอีกชิ้นช่วยซัพพอร์ตการเสียดสีเวลาวิ่งอีกด้วย / ปิดท้ายที่ Ultraboost 21 กลับมาใช้ Primeknit+ ผสมผสานเส้นใย Parley จากวัสดุรีไซเคิล ก็ใส่สบายดีแต่รู้สึกว่าระบายอากาศได้น้อยลงกว่ารุ่นก่อน

ชอบที่สุด: Ultraboost 19

ส้นเท้า

adidas Ultraboost ทั้ง 3 รุ่นยังคงใช้วัสดุ 3D heel frame ที่ช่วยกระชับข้อเท้าไม่ให้แกว่งขณะวิ่ง รวมถึง Ultraboost 21 ที่ใช้วัสดุ heel frame เป็นกรอบพลาสติกมาช่วยประครองเท้าเช่นกัน โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นความต่างมากนัก เพราะพื้นฐานโฟมบูสต์ไม่ได้ดีดเด้งจนทำให้เท้าแกว่งหรือเท้าล้ม แล้วแต่ว่าใครชอบแบบไหน แต่ที่รู้สึกล็อกข้อเท้าได้ที่สุดต้องรุ่นนี้เลย

ชอบที่สุด: Ultraboost PB

วัสดุ 3D heel frame และ heel frame พลาสติกของ Ultraboost 21

โฟมและพื้นรองเท้า

adidas Ultraboost ทั้ง 4 คู่ ใช้โฟมชนิดเดียวกันคือ บูสต์ (BOOST) แต่ต่างกันที่ความหนาแน่นของปริมาณเม็ดโฟมบูสต์ ซึ่งตั้งแต่รุ่น Ultraboost 20 เป็นต้นมามีการเพิ่มจำนวนเม็ดโฟมบูสต์ขึ้นอีก 20% ในขณะที่ Ultraboost 21 กลับยิ่งเพิ่มปริมาณไปอีก 6% ทำให้มีความหนาแน่นมากที่สุดในตระกูลนี้ก็ว่าได้ ความหนาแน่นของบูสต์ก็มาพร้อมความแน่นเฟิร์มขณะวิ่ง แต่พอแน่นมากไปกลับยิ่งรู้สึกหนักเท้าตามมาด้วย ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง adidas LEP(Linear Energy Push) ที่มาช่วยการบิดงอเท้า พูดง่ายๆ ว่าซัพพอร์ตเท้ารอบทิศทางมากขึ้น ฉะนั้นจึงยิ่งเหมาะกับการเป็นรองเท้าสายซัพพอร์ตมากที่สุดก็ได้

ชอบที่สุด: Ultraboost 19 (โฟมคืนตัวดีที่สุด) และ Ultraboost 21 (ความรู้สึกแน่นซัพพอร์ตรอบทิศทาง)

เริ่มจากทางซ้าย Ultraboost 19, Ultraboost 20, Ultraboost PB และ Ultraboost 21

การวิ่ง

การวิ่งน่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนสงสัยเหมือนกันคือใส่วิ่งแล้วต่างกันยังไง ขออนุญาตอ้างอิงจากการวิ่งของตัวเองเป็นหลัก เพราะสิ่งที่มีผลมากๆ คือเรื่องน้ำหนักตัว ที่ส่งผลต่อการกดรองเท้าไม่เหมือนกัน ผลที่ได้อาจรู้สึกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทั้ง 4 รุ่นมีคล้ายกันคือ ‘การซัพพอร์ต’ และ ‘น้ำหนัก’ ที่รู้สักได้ขณะวิ่ง Ultraboost 19 สัมผัสน้ำหนักที่ว่าได้น้อยที่สุด อาจเพราะวัสดุหน้าผ้าที่โอบรัดเท้าของผู้ใส่มากที่สุด รวมถึงโฟมที่เด้งคืนกลับดีที่สุด เลยรู้สึกเหมือนกันว่ารองเท้าติดไปกับเท้าตลอดการวิ่ง

ในขณะที่ Ultraboost 20 เองเปลี่ยนหน้าผ้าให้ใส่สบายขึ้น ความกระชับที่มีจึงลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตามก็ยังพอพึงพาการไหลและความเด้งของโฟมบูสต์ได้อยู่ เพียงแต่น้ำหนักที่อยู่ที่เท้ามันมีมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับเป็นปัญหา / Ultraboost PB จะว่านำข้อดีของทั้งสองรุ่นมาผสมกันก็ว่าได้ เพราะถามว่ายังรู้สึกหนักอยู่ไหม ยังรู้สึกอยู่แต่ไม่ได้มาจากทั้งหมดของรองเท้า มันรู้สึกเหมือนมีแผ่นหนาติดอยู่ใต้เท้า แต่แผ่นหนาๆ นี้แหละที่ช่วยให้การวิ่งไหลไปเรื่อยๆ ยิ่งคนมีรอบขาดีๆ ผมว่าน่าจะวิ่งสนุก / ปิดท้ายกันที่ Ultraboost 21 ของใหม่ป้ายแดง เป็นรองเท้าที่หนักที่สุดในทั้ง 4 รุ่นนี้ ระว่ามีผลก็มี แต่ก็มีข้อดีของมันอยู่คือการซัพพอร์ตแบบเต็มที่ ใช้งานง่ายไม่มีปัญหา แถมยังสามารถวิ่งได้สนุกโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่หากถามว่าส่วนตัวแล้วชอบคู่ไหนมากที่สุดก็ยังคงยืนยันคำเดิมครับว่า

ชอบที่สุด: Ultraboost 19 คือตัวเลือกที่ติดใจที่สุดแล้ว แต่ถ้าอยากหาความท้าทายใหม่ต้อง Ultraboost 21

คุณสมบัติของ adidas Ultraboost 21
Optimized BOOST – เพิ่มปริมาณบูสท์ขึ้นมา 6% เมื่อเทียบกับ Ultraboost 20
adidas LEP(Linear Energy Push) คือแผ่น Torsion System ใหม่ ช่วยในการงอเท้าได้มากขึ้น 15%
PRIMEKNIT+ – วัสดุหน้าผ้าแบบเดียวกับ Ultraboost 20 แต่มีการทอรูปแบบใหม่ เพื่อการซัพพอร์ทมากขึ้น
Sustainable Support – ใช้วัสดุ PRIMEBLUE ที่ได้จากขวดพลาสติกในท้องทะเลมาทำเส้นใย Parley ทำตัวรองเท้ากว่า 50%

If you like sneakers, we’re neighbors.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back To Top